ประวัติโรงพยาบาล
ในครั้งแรกนั้น ข้าพเจ้าทราบว่ากรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้มีนโยบายที่จะให้มีบริการ ผู้ป่วยจิตเวชในโรงพยาบาลศูนย์ทุกแห่งและโดยที่โรงพยาบาลนครราชสีมา ก็เป็นแห่งหนึ่งที่ทางกรมการแพทย์ จะให้พัฒนาขึ้นเป็นโรงพยาบาลศูนย์ จึงมีโครงการให้มีบริการผู้ป่วยจิตเวชขึ้น ข้าพเจ้าได้มองเห็นที่ว่างเปล่า อยู่ตรงข้ามกับโรงพยาบาลนครราชสีมา จึงได้หาต้นตอแหล่งที่จะได้ที่ดินแห่งนี้อละสืบได้ความว่าที่ดินแห่งนี้ มีเนื้อที่ทั้งหมด 111 ไร่ เป็นที่ราชพัสดุ ยังไม่มีอาคารใดมาปลุกสร้างถาวร นอกจากสถานีวิทยุ ซึ่งก่อสร้างเป็นอาคารไม้หลังเล็ก ๆ หลังหนึ่งและบ้านบ้านพักเจ้าหน้าที่อยู่อีกหลังหนึ่งจึงได้มาซึ่งที่ดินดังกล่าวนี้
นายแพทย์น่วม เศรษฐจันทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครราชสีมา ในขณะนายแพทย์ขจร อันตระการ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลโรคจิต จึงได้แจ้งเรื่องต่อท่านศาสตราจารย์ นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว อธิบดีกรมการแพทย์ ซึ่งทางกรมการแพทย์ได้พิจารณาเห็นว่า จังหวัดนครราชสีมา เป็นจังหวัดใหญ่และเป็นจังหวัดชุมทางของจังหวัดอื่นๆ ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือและมีโรงพยาบาลประจำจังหวัดที่สามารถรับรักษาคนไข้ได้มากกว่าโรงพยาบาลในจังหวัดอื่นๆ ฉะนั้นงานด้านบริการในโรงพยาบาลนครราชสีมา ควรจะมีการรักษาพยาบาลทั้งฝ่ายกายและฝ่ายจิต อีกทั้งเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าการรักษาพยาบาลคนไข้โรคจิตประสาทนั้น น่าจะอยู่รวมกันได้กับการรักษาพยาบาลทางกาย และให้บรรดาคนไข้โรคจิตโรคประสาททั้งหลาย มีความรู้สึกว่าการเป็นโรคจิต โรคประสาทนั้นก็คือการเป็นโรคอย่างหนึ่งเช่นเดียวกับโรคทางฝ่ายกาย ดังนั้นในปี พ.ศ. 2505 ศาสตราจารย์ นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว จึงได้ขอจัดตั้งงบประมาณการก่อสร้าง และงบประมาณอื่นๆ ที่จำเป็นขึ้นโดยใช้ที่ดินตรงข้ามโรงพยาบาลนครราชสีมา ซึ่งได้รับจัดสรรมาประมาณ 19 ไร่กว่า รวมกับที่ดินบางส่วนที่กองช่างวิทยุกรมไปรษณีย์โทรเลข ได้กรุณาจัดแบ่งให้ ประมาณ 10 ไร่ รวมทั้งสิ้น 30 ไร่ 1 งาน เพื่อดำเนินการจัดตั้งโรงพยาบาล
- ปี พ.ศ. 2505 ได้รับงบประมาณ 1,418,000 บาท เพื่อเป็นค่า ก่อนสร้างอาคารอำนวยการ ตึกผู้ป่วย 50 เตียง (ตึกกรองจิตในปัจจุบัน) บ้านพักแพทย์ บ้านพักชั้นตรี เรือนแถวของพนักงานผู้ช่วย รวม 5 ห้อง
- ปี พ.ศ. 2506 ได้รับงบประมาณ 1,490,000 บาท เป็นค่าก่อสร้างตึกผู้ป่วย 50 เตียง (ตึกพิรุณทองในปัจจุบัน) โรงเลี้ยงอาหาร 2 หลัง โรงครัว โรงซักฟอก โรงงานอาชีวะ บ้านพักแพทย์ เรือนแถว 2 หลัง ประตูและรั้วลวดตาข่าย รั้วลวดหนาม ค่าถมดิน ติดตั้งไฟฟ้า ประปา
- ปี พ.ศ. 2507 ได้รับงบประมาณ 260,000 บาท เป็นค่าก่อสร้างโรงงานอาชีวะ 1 หลัง ถมดินทำถนน ค่าติดตั้งไฟฟ้า ประปา
หลังจากก่อสร้างเสร็จ จึงได้มีการประชุมพิจารณา โดยมีคณะกรรมการพิจารณาดังนี้
1. นายแพทย์เชิด โทณวณิก ผู้อำนวยการกองโรงพยาบาลส่วนภูมิภาค
2. นายแพทย์ขจร อ้นตระการ ผู้อำนวยการกองโรงพยาบาลโรคจิต
3. แพทย์หญิงสำเนียง เศรษฐจันทร แทนนายแพทย์พิเศษผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครราชสีมา
4. นายแพทย์เจริญ วัฒนสุชาติ ผู้จดบันทึก
ที่ประชุมมีมติว่า
1. ทางกองโรงพยาบาลโรคจิตจะโอนงบประมาณทุกหมวด รวมทั้งอัตรากำลัง ที่ตั้งเอาไว้สำหรับ “โรงพยาบาลโรคจิตนครราชสีมา” ให้มาขึ้นกับกองโรงพยาบาลส่วน ภูมิภาคทั้งหมด
2. ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครราชสีมามีอำนาจสิทธิ์ขาดในการปกครองดูแลกิจกรรมทั้งหมด รวมทั้งการพิจารณาเงินเดือนเจ้าหน้าที่ของ “โรงพยาบาลโรคจิตนครราชสีมา” ซึ่งถือว่าเป็นแผนกหนึ่งของโรงพยาบาลนครราชสีมา
3. ในภาคปฏิบัติ
3.1 ทางกองโรงพยาบาล ส่วนภูมิภาคจะแบ่งอัตราแพทย์ที่มาสมัคร ทางกองให้ตามอัตราส่วน ของผู้ที่มาสมัคร
3.2 ตึกคนไข้ทางแผนก จิตเวชนั้นในขั้นต้นให้รับคนไข้ฝ่ายกายไว้ด้วย เพื่อเป็นการประสมประสานงานระหว่างวิชา อายุรศาสตร์และแพทย์แขนงอื่น กับวิชาจิตเวชให้ดียิ่งขั้น
3.3 แผนกจิตเวชจะไม่รับ คนไข้คดีและคนไข้เรื้อรัง จะพิจารณารับ แต่คนไข้ที่เริ่มเป็นใหม่และอาการเฉียบพลัน ที่ไม่ทำความเดือดร้อนแก่บุคคลอื่น
3.4 ทางกองโรงพยาบาลโรคจิตจะช่วยเหลือทางด้านเทคนิคและวิชาการโดยจัดส่งแพทย์อาวุโสไปช่วยแนะนำทางแผนกจิตเวชโรงพยาบาล
นครราชสีมามาเป็นครั้งคราว แล้วแต่ความเหมาะสมต่อไป
เมื่อที่ประชุมลงมติแล้ว นายแพทย์บุลศักดิ์ วัฒนผาสุก อธิบดีกรมการแพทย์สมัยนั้น ได้มีหนังสือเรื่องการมอบงานแผนกจิตเวช โดยโรงพยาบาลนครราชสีมา พร้อมบันทึกการประชุมแจ้งให้ผุ้ว่าราชการนครราชสีมาทราบ
ดังนั้นวันที่ 18 มีนาคม 2508 จึงถือว่าเป็นวันเกิดของโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ ซึ่งเป็นสถานบริการผู้ป่วยจิตเวชแห่งที่ 2 ของรัฐ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ